กล่องโฟม บรรจุภัณฑ์สร้างปัญหา ขยะล้นเมือง

หากพูดถึงบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ต้องยอมรับว่ากล่องโฟม และบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมรูปแบบต่างๆ ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก และอาจจะมากกว่า แก้วกระดาษ  แก้วกาแฟกระดาษ กล่องกระดาษ จานข้าวกระดาษ หรือบรรจุภัณฑ์จากวัสดุอื่นๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโฟมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่หาง่าย ราคาไม่แพง แต่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สร้างปัญหาต่อสภาพแวดล้อมมากที่สุด

กล่องโฟม การผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

โฟม (Foam) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิดโพลิสไตรีน ผ่านกรรมวิธีการผลิต โดยใช้สารเร่ง หรือสารที่ทำให้ขยายตัว ทำให้เกิดการฟูและพองตัว จากการใช้ความร้อนสูง ซึ่งสารที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตโฟมชนิดหนึ่งมีส่วนทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีการพัฒนาโดยใช้ก๊าซ Butane หรือ Pentane เป็นตัวทำให้ฟูฟองแทน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง แต่บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากโฟม ก็ยังเป็นปัญหาก่อให้เกิดขยะล้นเมืองเพราะเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เมื่อทำลายโฟมก็ทำให้เกิดมลพิษสร้างปัญาให้กับสังคมส่วนรวมในหลายๆด้าน

การใช้กล่องโฟมและปัจจัยที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ

การใช้ บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากโฟม มีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมให้ความรู้ว่ามีสารก่อมะเร็งอย่างสไตรีน สามารถปนเปือนมากับอาหารที่บรรจุอยู่ในกล่องโฟมได้ นอกจากนี้การทานอาหารจากกล่องโฟมอย่างน้อยวัยละ 1 มื้อ เช่น การทานข้าวจากกล่องโฟมในมื้อใดมื้อหนึ่งติดต่อกันเป็นเป็นเวลานาน 10 ปีจะทำให้มีความเสี่ยงโรคมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า

ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารพิษในกล่องโฟม ซึ่งปนเปื้อนมากับอาหารที่เราทาน นอกจากก่อให้เกิดมะเร็งแล้ว จะยังทำลายไขกระดูก ทำลายตับและไต ทำให้ผิวหนังแห้ง มีผลทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายและการทรงตัวของคนเราทำได้ไม่ดี เนื่องจากสารสไตรีนที่ปนเปื้อนมาในอาหารมีผลต่อประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย

สารพิษจากกล่องโฟมปนเปื้อนในอาหารได้อย่างไร

บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เช่น กล่องข้าว ถ้วยโฟม จานอาหารทำจากโฟม มีส่วนประกอบของสารสไตรีน ดังนั้นอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมมีโอกาสปนเปื้อนสารสไตรีนมาในอาหารได้จากปัจจัยต่อไปนี้

1.อุณหภูมิความร้อนของอาหารที่อยู่ในถ้วยโฟม

2.อาหารซึ่งบรรจุหรือใส่ในภาชนะที่ทำจากโฟมมีส่วนประกอบของน้ำมันสูง

3.ใส่อาหารไว้ในกล่องโฟมเป็นเวลานาน

4.การทำให้เกิดความร้อน โดยนำอาหารที่อยู่ในถ้วยโฟมอุ่นในไมโครเวฟ

5.นำกล่องโฟมบรรจุอาหารไปแช่แข็งหรือแช่อุณหภมิเย็นจัดเป็นเวลานานๆ

จากปัญหาการใช้กล่องโฟมจนก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง และเมื่อนำไปเผาทำลายเนื่องจากเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ก็ยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษตามมา ปัจจุบันเกิดกระแสอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจที่ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม หรือบรรจุภัณฑ์รูปแบบอื่นๆอย่างเข้าใจก็จะช่วยให้การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์สนองต่อความต้องการของสังคมและส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว